วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สถานที่เลี้ยงปูม้า

    

การผลิตลูกพันธุ์ปูม้า สิ่งที่สำคัญประการแรกคือ การเตรียมโรงเพาะฟัก โดยหลักแล้วจะต้องมีบ่อพักน้ำ บ่อฆ่าเชื้อ บ่อเก็บน้ำ ถังฟักไข่และบ่ออนุบาล โดยเฉพาะบ่อพักน้ำจะต้องมีขนาดเพียงพอและต้องมีน้ำที่มีความบริสุทธิ์ สะอาด และปราศจากเชื้อโรค เพียงพอต่อการนำไปใช้ในโรงเพาะฟัก
       สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือ ถังฟักไข่ อาจใช้ถังกลมขนาด 200 ลิตร หรือถังสี่เหลี่ยม เพราะมีพื้นที่ผิวมาก แต่ถ้าเป็นบ่อเพาะฟักปูม้าที่มีการลงทุนระยะยาวควรใช้บ่อซีเมนต์จะมีความคุ้มทุนมากกว่า อาจใช้บ่อเหลี่ยมหรือบ่อกลมขนาด 2 - 7 ตัน ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ แต่ถ้าใช้ไฟเบอร์ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
       นอกจากบ่อพักน้ำแล้ว บ่อเก็บน้ำก็มีความจำเป็นต้องมีการฆ่าเชื้อในน้ำด้วยคลอรีนก่อนที่จะนำมาใช้ในโรงเพาะฟัก เพราะน้ำแต่ละแหล่งมีคุณภาพไม่เท่ากัน บางที่น้ำอาจไม่มีความเหมาะสมในการนำไปใช้
       ในส่วนของการเตรียมพ่อ - แม่พันธุ์ ปัจจุบันประสบปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากมีกฎหมายห้ามจับปูม้าในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ฟาร์มเอกชนไม่สามารถจับพ่อ - แม่พันธุ์จากธรรมชาติได้ ดังนั้น จึงมีการศึกษาการเลี้ยงพ่อ - แม่พันธุ์ในบ่อดินพบว่า แม่พันธุ์ปูม้าที่เลี้ยงไว้ 6 - 8 เดือน จะสามารถให้ไข่ได้ประมาณ 500,000 ฟอง แล้วจึงนำไข่ไปเพาะฟัก คุณภาพของไข่ที่ได้มีคุณภาพใกล้เคียงกับปูม้าที่จับจากธรรมชาติ ดังนั้น ถ้ามีการเลี้ยงพ่อ - แม่พันธุ์ปูม้าในบ่อดินได้ ก็สามารถเพาะลูกพันธุ์ปูม้าได้ตลอดทั้งปี
       ลูกปูม้าที่เกษตรกรผลิตเพื่อจำหน่ายที่เข้าไปอยู่ในโรงเพาะฟักจะมี 2 ระยะ คือ ระยะ megalopa (อายุ 9 - 10 วัน) ระยะนี้เกษตรกรบางรายจะเตรียมบ่อดินและสามารถนำไปปล่อยในบ่อดินได้เลย อีกระยะหนึ่งคือ ระยะลูกปู (crab) อายุ15 วันขึ้นไป (ตั้งแต่ระยะ first crab ไปจนถึงระยะ young crab) ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรต้องการระยะไหน ต้องผลิตให้ทันและตรงกับความต้องการของเกษตรกร
       ในขั้นตอนการอนุบาลลูกปูม้า อันดับแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ การเตรียมอาหาร อาหารที่ใช้คือ แพลงค์ตอนพืชและแพลงค์ตอนสัตว์ แพลงค์ตอนพืชที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิดคือ คลอเรลลาและคีโตเซอรอส ซึ่งคีโตเซอรอสจะให้ลูกปูกิน ส่วนคลอเรลลาจะสำหรับการเพาะเลี้ยง แพลงค์ตอนสัตว์ เช่น โรติเฟอร์ไรน้ำกร่อย ไรแดง และอาร์ทีเมีย เพื่อใช้ในระหว่างขั้นตอนการอนุบาล ถ้าเป็นฟาร์มที่มีความพร้อม ควรเตรียมแพลงค์ตอนพวกนี้ไว้ก่อน เพราะยังไม่มีอาหารสำเร็จรูปสำหรับลูกปู
       ขั้นตอนการเพาะพันธุ์ปูม้า เริ่มจากการนำปูม้าไข่แก่นอกกระดองสีเขียวอมดำจากทะเลหรือจากบ่อเลี้ยงมาฟักในถังขนาด 200 - 500 ลิตร แม่ปูม้าจะให้ไข่เฉลี่ย 713,000 ฟอง และวางไข่ได้สูงสุดถึงกว่า 2 ล้านฟอง ปริมาณไข่ขึ้นอยู่กับขนาดแม่ปูและความสมบูรณ์ของปู เมื่อปูม้าวางไข่หมดแล้วแยกแม่ปูม้าไปเลี้ยงต่อในบ่อดิน ปูม้าจะสร้างไข่ชุดใหม่ในเวลา 2 - 3 สัปดาห์ หลังจากไข่ปูม้าเข้าสู่ระยะโซเอี้ย(zoea) จะย้ายลูกปูระยะ zoea ไปอนุบาลต่อในบ่อซีเมนต์ ขนาด 2 - 7 ตัน ในอัตราความหนาแน่น 40,000 - 70,000 ตัว/ตัน โดยใช้โรติเฟอร์ คีโตเซอรอส และคลอเรลลา เป็นอาหารจนลูกปูเข้าสู่ระยะ zoea วันที่ 8 จะเริ่มให้อาร์ทีเมียหรือไรน้ำกร่อยเพิ่มเติม ลูกปูจะอยู่ในระยะ zoea 9 - 12 วัน จึงเปลี่ยนรูปร่างโดยการลอกคราบ เข้าสู่ระยะเมกาโลปา (megalopa) ซึ่งเริ่มมีก้ามสำหรับจับอาหาร และมีอัตราการกินกันเองสูง จึงต้องมีการย้ายลูกปูเพื่อลดอัตราความหนาแน่น โดยย้ายลงอนุบาลในอัตรา 10,000 - 15,000 ตัว/ตัน ระยะนี้จะใช้อาร์ทีเมีย ไรน้ำกร่อย ไรแดง ปลาบด คีโตเซอรอส เป็นอาหาร ลูกปูจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 5 - 7 วัน จะลอกคราบเปลี่ยนรูปร่างสู่ระยะ first crab ซึ่งจะมีรูปร่างเหมือนปูม้า ระยะนี้ลูกปูจะลงเกาะพื้นเก็บกินอาหารตามพื้นจึงให้อาหารพวกไรแดงและเนื้อบด ลูกปูในระยะนี้มีการกินกันเองสูง จึงใส่วัาดุหลบซ่อนสำหรับลูกปู โดยใช้ตาข่ายพรางแสง(ซาแลน) ตัดเป็นชิ้นยาวๆ คล้ายสาหร่ายเทียมวางบริเวณกลางน้ำจนถึงพื้นให้ลูกปูใช้เกาะหลบซ่อน อนุบาลลูกปูในระยะ first crab ต่อไป 10 - 15 วัน จะได้ลูกปูขนาด 0.8 - 1.2 เซนติเมตร ซึ่งสามารถนำไปเลี้ยงได้ดี
       ปัญหาสำหรับการอนุบาลลูกปูในโรงเพาะฟักคือ การกินกันเองลูกปูในระยะ megalopa และระยะ first crab ดังนั้นการนำลูกปูระยะ megalopa ซึ่งเป็นระยะที่เริ่มกินปลาบดได้ลงเลี้ยงในบ่อดิน โดยลดอัตราความหนาแน่นเหลือ 100 - 200 ตัว/ตารางเมตร จะช่วยให้อัตราการรอดตายของลูกปูม้าสูงขึ้น ซึ่งการอนุบาลปูม้าในบ่อดินทำได้โดย เตรียมบ่อดินขนาด 400 ตารางเมตร ปูพื้นบย่อด้วยอวนตาละเอียดสำหรับจับปู เตรียมน้ำในบ่อให้มีความสมบูรณ์ของแพลงค์ตอน ระดับน้ำสูง 1 - 1.2 เมตร ปล่อยลูกปูม้าระยะ megalopa ในอัตรา 40,000 - 80,000 ตัว/บ่อ เลี้ยงปูโดยใช้ปลาสดบดละเอียดให้อาหารวันละ 3 ครั้ง อนุบาลปูม้าเป็นระยะเวลา 15 - 20 วัน จะได้ลูกปูม้าขนาดความกว้าง 1.2 - 1.5 เซนติเมตร มีอัตราการรอดตาย 40 - 60 % ลูกปูจากบ่อดินมีความแข้งแรงสูงสามารถนำไปเลี้ยงในบ่อดินได้ดี

ปูม้าไข่นอกกระดอง



แม่ปูม้าไข่ (นอกกระดอง)
 ปูม้าสัตว์ทะเลที่นำมาปรุงเป็นอาหารทะเลรสชาติเลิศ ยิ่งสดๆ ยิ่งหวานอร่อย 
            ปูม้าตัวเป็นๆ สีฟ้าสวยงาม เมื่อปรุงสุขแล้วเป็นสีส้มสวยน่ากิน วันนี้ไม่ได้จะชวนไปกินปูม้าแต่อย่างใด แต่จะชวนคุยถึงปูม้าตัวเป็นๆ ต่างหาก
            เมื่อสัปดาห์ที่แล้วฉันเดินทางลงพื้น จ.พังงาเพื่อเก็บข้อมูลได้พูดคุยกับกลุ่มนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหลายแห่ง หลายชุมชนให้ความสนใจและเริ่มทำกิจกรรมนี้บ้างแล้ว นอกเหนือไปจากการจัดการทะเลและการฟื้นฟูป่าชายเลน ก็คือ ธนาคารปูไข่นอกกระดอง
            นายด้าหนี  ห่วงผล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านใต้ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา เล่าให้ฟังว่า ทางกลุ่มของเราคิดเรื่องธนาคารปูไข้นอกกระดองมานานแล้ว ส่วนใหญ่ใครได้ปูไข่นอกกระดองก็ปล่อยลงทะเลไปเลย ไม่ได้มาร่วมกลุ่มเอาปูมาใส่ในกระชัง
            นายอ้าหมีด คำนึงการ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งบ้านท่าสนุกและผู้ใหญ่บ้านท่าสนุก ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา เล่าว่า พวกเราคิดทำธนาคารปูไข่นอกกระดองพอดีกับช่วงที่ธนาคารออมสินมีแนวคิดเรื่องนี้จึงให้งบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งในการทำกระชังสำหรับใส่ปูไข่นอกกระดอง
            ปูที่สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ต้องการคือ ปูม้าตัวเมีย ถ้าเป็นปูดำอาจจะต้องมัดแขน-ขาก่อนปล่อยลงกระชัง ไม่เช่นนั้นปูดำที่มีก้ามแข็งแรงกว่าอาจจะทำร้ายปูม้าได้ เมื่อถึงฤดูกาลวางไข่ ปูม้าตัวเมียจะมีไข่ติดอยู่บริเวณระยางค์ซึ่งเคยเป็นขาว่ายน้ำในระยะวัยอ่อน โดยในระยะแรกไข่จะอยู่ภายในกระดองต่อมากระดองทางหน้าท้องเปิดออกมาทำให้สามารถเห็นไข่ชัดเจน จึงมักเรียกปูม้าในระยะนี้ว่าปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง
            ไข่นอกกระดองนี้ในขณะที่เจริญแบ่งเซลล์อยู่ภายในเปลือกไข่ สีของไข่จะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเหลืองอมส้มเป็นสีเหลืองปนเทา สีเทาและสีเทาอมดำ ปูม้าที่มีไข่สีเทาอมดำนั้นจะวางไข่ภายใน 1-2 วัน (ข้อมูลเรื่องการเพาะเลี้ยงปูม้า เรียบเรียงโดยสุวดี บรรดาศักดิ์) แม่ปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง 1 ตัวจะมีไข่ 2 แสน ถึง 1 ล้านฟอง และลูกปูม้าวัยอ่อนอาจจะรอดไม่ต่ำกว่าพันตัว
            นายสุโบ๊ วาหะรักษ์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านท่าไร่ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา บอกว่า ถ้าชาวประมงทุกคนปล่อยปูไข่นอกกระดองทุกตัวลงทะเล ก็เท่ากับเป็นการปล่อยพันธุ์ปูไปด้วย ทะเลจะมีปูเพิ่มขึ้น
            หากติดตามข่าวคราวการอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลจะพบว่ามีหลายชุมชนที่ทำกิจกรรมธนาคารปูม้า ทุกๆ ชุมชนต่างช่วยกันฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำ อนาคตทะเลไทยสมบูรณ์อย่างแน่นอน เมืองท่องเที่ยวทางทะเลที่ขายหาดทรายสวย แสงแดดร้อนแรง และอาหารทะเลสดอร่อยย่อมมีความมั่นคงด้วยแน่
            แต่ถ้ายังปล่อยมีเครื่องมือที่ทำลายล้างทรัพยากรวัยอ่อน ใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างเช่น อวนลากอย่างเช่นปัจจุบัน ต่อให้ชุมชนทั้งประเทศช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรก็ไม่มีทางนำมาซึ่งความมั่นคงทางด้านอาหารแน่นอน






ประวัติปูม้า


ลักษณะ
ลักษณะทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนตัว, อก และท้อง ส่วนหัวและอกจะอยู่ติดกัน มีกระดองหุ้มอยู่ตอนบน ทางด้านข้างทั้งสองของกระดองจะเป็นรอยหยักคล้ายฟันเลื่อยเป็นหนามแหลมข้างละ 9 อัน ขามีทั้งหมด 5 คู่ด้วยกัน คู่แรกเปลี่ยนแปลงไปเป็นก้ามใหญ่เพื่อใช้ป้องกันตัวและจับอาหาร ขาคู่ที่ 2, 3 และ 4 จะมีขนาดเล็กปลายแหลมใช้เป็นขาเดิน ขาคู่สุดท้ายตอนปลายมีลักษณะเป็นใบพายใช้ในการว่ายน้ำ ขนาดกระดองสามารถโตเต็มที่ได้ราว 15-20 เซนติเมตร
                การกระจายพันธุ์
 สำหรับปูม้าในประเทศไทยสามารถพบได้แทบทุกจังหวัด ทั้งฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย โดยอาศัยอยู่บริเวณอ่าวแม่น้ำ และแถบชายฝั่ง ทะเล
การขยายพันธุ์
ปูม้าตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกันที่จับปิ้งและสี ตัวผู้มีก้ามยาวเรียวกว่า มีสีฟ้าอ่อนและมีจุดขาวตกกระทั่วไปบนกระดองและก้าม พื้นท้องเป็นสีขาว จับปิ้งเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียวสูง ตัวเมียจะมีก้ามสั้นกว่ากระดองและก้ามมีสีฟ้าอมน้ำตาลอ่อนและมีจุดขาวประทั่วไปทั้งกระดองและก้าม เมื่อถึงฤดูกาลวางไข่ ปูม้าตัวเมียจะมีไข่ติดอยู่บริเวณระยางค์ซึ่งเคยเป็นขาว่ายน้ำในระยะวัยอ่อน โดยในระยะแรกไข่จะอยู่ภายในกระดองต่อมากระดองทางหน้าท้องเปิดออกมาทำให้สามารถเห็นไข่ชัดเจน จึงมักเรียกปูม้าในระยะนี้ว่าปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง ไข่นอกกระดองนี้ในขณะที่เจริญแบ่งเซลล์อยู่ภายในเปลือกไข่ สีของไข่จะค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีเหลืองอมส้มเป็นสีเหลืองปนเทา สีเทาและสีเทาอมดำ ปูม้าที่มีไข่สีเทาอมดำนั้นจะวางไข่ภายใน 1-2 วัน
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
ปูม้า นับเป็นปูอีกชนิดหนึ่งที่มนุษย์ใช้ปรุงเป็นอาหารเช่นเดียวกับปูดำ (Scylla serrata) หรือปูทะเล โดยใช้ปรุงได้ทั้งอาหารยุโรป, อาหารจีน, อาหารญี่ปุ่นและอาหารไทย สำหรับอาหารไทยนั้นยังอาจปรุงเป็นส้มตำปูม้าได้อีกด้วย

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แนะนำตัว สมาชิกในกลุ่ม

แนะนำตัว สมาชิกในกลุ่ม



โครงงาน เรื่อง...การพัฒนาปูม้าในชุมชน
จัดทำโดย

ด.ช.คณิศร   หนองกลม   เลขที่ 3 
ด.ช.สุทธิโชค   ไตรธรรม   เลขที่ 13
ด.ช.อนุวัฒน์   พันธุสกุล   เลขที่ 17
ด.ช.อรรถพล   สารวัฒนานนท์   เลขที่ 18
ด.ช.อิทธิกร   ถือธรรม   เลขที่ 20

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/4
นำเสนอ
อาจารย์   ศิริรัตน์   นำไทย
โรงเรียนตราดสรรเสริญวิทยาคม
ภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา  2559